หน้าเว็บ

การพัฒนานวัตกรรมปัญญาภายใน ที่ลำปลายมาศพัฒนา

      การพัฒนานวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้สู่ปัญญาภายในของโรงเรียนลำปลายมาศได้เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ปีการศึกษาแรกของโรงเรียนฯเพื่อให้เป็นแนวคิดและกระบวนการพัฒนาทั้งครูและเด็กให้เกิดการเรียนรู้และงอกงามด้านใน หรือ ความฉลาดด้านจิตวิญญาณ
      เริ่มต้นในปีแรกๆ นั้นกระบวนการจิตศึกษาในโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนามีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมเด็กให้สงบผ่อนคลายและให้กลับมารู้เนื้อรู้ตัวก่อนเรียนเท่านั้น หลังจากนั้นโรงเรียนฯ จึงได้พัฒนากระบวนการและกิจกรรมขึ้นมาเป็นลำดับ จนถึงปีการศึกษา 2549 นวัตกรรม “จิตศึกษา” จึงมีรูปแบบที่ชัดเจน
จิตศึกษา เป็นนวัตกรรมเพื่อพัฒนาปัญญาภายใน ซึ่งทำงานกับสมองชั้นกลางและ สมองชั้นนอกเมื่อใช้กับผู้เรียนด้วยกระบวนการ และ วิธีการของจิตศึกษาจะเป็นการค่อยๆ สร้างการก่อรูปคุณลักษณะของปัญญาภายในขึ้น การฝึกฝน และ ใช้ซ้ำๆ จะทำให้รูปของคุณลักษณะนั้นจะคงตัว
      สมองชั้นในเกี่ยวกับความอยู่รอด เป็นสมองสัตว์เลื้อยคลาน (Reptilian brain)ทำงานตามสัญชาตญาณเพื่อความอยู่รอด ไม่เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก หรือความดีงาม เช่นจระเข้อาจกินลูกของตัวได้เมื่อมันหิว
      สมองชั้นกลางเกี่ยวกับอารมณ์ (Limbic brain)เป็นสมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทำงานเกี่ยวกับความรู้สึกหรือความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ
      สมองชั้นนอก (Neo-cortex)เป็นส่วนที่พอกหนาขึ้นมามากเป็นสมองแห่งความเป็นมนุษย์ ทำหน้าที่ที่ละเอียดอ่อน เช่น คิดเรื่องที่เป็นนามธรรม ความงาม ความดี ความจริง มิติทางวัฒนธรรมและมิติจิตวิญญาณ สมองส่วนนี้ช่วยสร้างโอกาสให้มนุษย์สามารถพัฒนาจิตวิญญาณไปสู่การมีความรักอย่างไพศาลทั้งต่อเพื่อนมนุษย์และต่อสรรพสิ่ง มีอิสระหลุดพ้นจากความบีบคั้นหรือเครื่องครอบทางจิตวิญญาณและทางปัญญา จนมีความสุขอันประณีตเพราะอิสรภาพนั้น

      สมองทั้งสามชั้นทำงานกันคนละหน้าที่แต่ทำงานเชื่อมโยงสัมพันธ์กันเช่นเมื่อเด็กรู้สึกถูกคุกคาม สมองชั้นในของเด็กจะทำงานก่อนด้วยการเข้าสู่ภาวะปกป้องตัวเองหรือการเอาตัวรอดจนอาจทำให้สมองส่วนอื่นๆ ทั้งส่วนการเรียนรู้ คุณธรรม ความรักหยุดทำงานแต่ถ้ากระตุ้นสมองชั้นนอกด้วยการสร้างสัมพันธภาพเชิงบวก ให้เด็กได้เกิดอารมณ์เชิงบวก รู้สึกได้รับคุณค่า เมื่อนั้นสมองส่วนหน้าและสมองส่วนกลางก็จะทำงานได้ดี

คุณลักษณะของผู้เรียนที่บ่งบอกว่าผู้เรียนได้เกิดการก่อรูปของปัญญาภายในขึ้น เราอาจสังเกตได้จากสิ่งเหล่านี้
- รู้ตัวไวหรือการมีสติ ผู้เรียนสามารถกลับมารู้ตัวเองได้ด้วยตัวเองอยู่เสมอรู้เท่าทันความคิดหรืออารมณ์เพื่อให้รู้ว่าต้องหยุดหรือไปต่อกับสิ่งที่กำลังเป็นอยู่เมื่อมีภาวะรู้ตัวไวก็จะสามารถจัดการอารมณ์ตนเองได้รวดเร็วเช่นกัน บรรยากาศเพื่อการกล่อมเกลาให้เกิดภาวะรู้ตัว หรือกิจกรรมที่ฝึกฝนสติต้องไม่ฝืดฝืนกับธรรมชาติของเด็กแต่ละวัยด้วยซึ่งจะมีรายละเอียดภายในหนังสือเล่มนี้
- การมีสัมมาสมาธิสามารถตั้งใจมั่น จดจ่อ เพื่อกำกับให้การเรียนรู้ของตน หรือการทำภาระงานของตนให้สำเร็จลุล่วงได้ทั้งมีความอดทนทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
- การรับรู้อารมณ์และความรู้สึกของตนเอง (รู้ตัว) และผู้อื่น ได้อย่างว่องไวละกลับมาอยู่กับการใคร่ครวญตัวเองได้เสมอๆ
- การเห็นคุณค่าในตัวเองคนอื่นและสิ่งต่างๆเพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมายและมีความหมาย ซึ่งการเห็นคุณค่าก็จะนำมาสู่การเคารพสิ่งนั้น
- การอยู่ด้วยกันอย่างภารดรภาพยอมรับในความแตกต่างเคารพและให้เกียรติกันการมีวินัยมีความรับผิดชอบต่อตนเองและส่วนรวมอยู่อย่างพอดีและพอใจได้ง่าย
- การเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างตนเองกับสิ่งต่างๆนอบน้อมต่อสรรพสิ่งที่เกื้อกูลกันอยู่
- การมีจิตใหญ่มีความรักความเมตตามหาศาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น